THAI MEDICINE KNOWLEDGE
การดูแลรักษาสุขภาพ ตามแนวคิดแพทย์แผนไทย
ในแพทย์แผนไทย เราเชื่อว่า มนุษย์ควรกินอาหารให้เป็นยา ไม่ควรกินยาเป็นอาหาร เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะยามีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์ในเวลาเดียวกัน ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย ไม่มีสิ่งใดเลยบนโรคใบนี้ ที่ไม่สามารถนำมาเป็นยาได้ ในสมัยโบราณแม้แต่ดิน ทราย มูลสัตว์ หรือแม้แต่มูตรคน ก็สามารถนำมาผ่านกระบวนการปรุงเป็นยาได้ทั้งนั้น แล้วแต่ว่ายานั้นจะถูกใช้ภายนอก หรือใช้ภายใน ซึ่งทางการแพทย์แผนไทยก็มีวิธีในการปรุงยามากถึง 28 วิธี ไม่รวมกับหัตถการต่างๆ ที่นำมาช่วยบำบัดโรคแก่ผู้ป่วยให้หายเร็วขึ้นประกอบกับยาด้วย
เมื่อแพทย์เชื่อว่า อาหารควรทานให้เป็นยา จึงสะท้อนออกมาที่วิถีความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมการกินของคนไทยตั้งแต่บรรพบุรุษมา อาหารไทยมักถูกปรุงด้วยพืช ผัก สมุนไพร หลายอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ เครื่องแกง น้ำพริก อาหารไทยเลือกใช้ส่วนผสมหลายอย่างโดยการเลือกรสที่ส่งเสริมกันบ้าง แก้แสลงกันบ้าง ปรับรสให้น่าทานขึ้นบ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุ ในวันที่มีโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่น ไวรัสโคโรนา เราเห็นการสุมไอน้ำสมุนไพรเพื่อลดความเสี่ยง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเรียบง่ายในการรักษาและป้องกันโรค ที่ผู้ป่วยหรือคนทั่วไปสามารถทำได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยแพทย์ในบางครั้งด้วยซ้ำ
ในการดูแลสุขภาพในทางแพทย์แผนไทย จึงเน้นไปที่การให้ผู้ป่วย หรือบุคคลเข้าใจถึงเหตุแห่งโรค และวิธีการในการรักษา เพื่อวินัยในการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด ผู้ป่วยหยุดยาได้เมื่อหายโรค แต่ไม่สามรถหยุดดูแลสุขภาพได้ หากเข้าใจเช่นนี้ การปรับพฤติกรรมการบริโรค รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน จะสามารถทำให้สุขภาพแข็งแรงได้
หลักการรักษาโรค ตามแนวคิดแพทย์แผนไทย
อวัยวะเป็นเพียงรังของโรค
เราเชื่อในศาสตร์ของแพทย์แผนไทยที่สั่งสมจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่ามากว่า 1000ปี แพทย์แผนไทยเชื่อว่าร่างกายจะปกติปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ด้วยระบบการทำงานที่เป็นปกติ และสมดุลกันระหว่าง ระบบปิตตะ วาตะ และเสมหะ (ระบบไฟ ระบบลม และระบบน้ำตามลำดับ) หากระบบใดระบบหนึ่งเสียสมดุลแล้ว อาจจะส่งผลกระทบระบบอื่น หรือสำแดงอาการออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อธาตุดิน (อวัยวะของร่างกาย) การดูแลรักษาสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนไทย จึงเป็นการดูแลสมดุลของระบบทั้งสามนั่นเอง ไม่ว่าพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยจะถูกเรียกขายว่าอะไร แพทย์ไทยจึงให้ความสำคัญไปที่ความเข้าใจถึงระบบการทำงานใดที่ทำงานผิดไปมากกว่า จะไม่วางยา (หรือจัดยา) ตามชื่อโรค แต่จะเป็นการค่อยๆ ปรับไฟ น้ำ ลม ให้กลับมาที่ลักษณะเจ้าเรือนเดิมให้เร็วและสมบูรณ์ที่สุด
ดังนั้นเมื่อเราเป็นไข้ ไอ จาม ปวดท้อง ที่อาจเกิดการคาดเดาชื่อโรคได้มากมาย ขอให้ตระหนักว่า เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากสมดุลไฟ ลม น้ำ ที่ผิดไป ไม่ใช่ความผิดของอวัยวะนั้นๆ อวัยวะเพียงแต่สำแดงให้เราเห็นว่า ระบบในร่างกายเราขาดสมดุลเสียแล้ว
ระบบการทำงานของร่างกาย ตามแนวคิดแพทย์แผนไทย
เมื่ออวัยวะเป็นเพียงรังของโรค ที่สำแดงให้แพทย์รู้ว่า ระบบการทำงานของร่างกายเสียสมดุล ระบบการทำงานทืี่กล่าวถึงนี้ คือระบบ ปิตตะ-วาตะ-เสมหะ นั่นเอง
ระบบควบคุมการทำงานของธาตุไฟ (กองพิกัดสมุฎฐานปิตตะ) ประกอบไปด้วย พัทธปิตตะ อพัทธปิตตะ และกำเดา
ระบบควบคุนการทำงานของธาตุลม (กองพิกัดสมุฎฐานวาตะ) ประกอบไปด้วย หทัยวาตะ สัตถกวาตะ และสุมนาวาตะ
ระบบควบคุมการทำงานของธาตุน้ำ (กองพิกัดสมุฎฐานเสมหะ) ประกอบไปด้วย ศอเสมหะ อุระเสมหะ และคูถเสมหะ
ทั้ง 3 ระบบนี้ โดยปกติจะทำงานสอดคล้องกัน ตามลักษณะธรรมชาติของธาตุเอง นั่นคือ ธาตุไฟต้องร้อน ธาตุลมต้องเคลื่อนไหว และธาตุน้ำต้องชุ่มชื้น ส่วนอวัยวะที่ถือเป็นธาตุดินนั้นต้องอุ่น ร่างกายคนเราจึงอุ่น ไม่เย็นชืด การที่ระบบเสียสมดุล อาจหมายถึงระบบนั้นๆ ทำงานไม่ปกติเท่าเดิม หรืออาจหมายถึงการเสียสมดุลระหว่างกันก็ได้ เหตุเพราะ ลมจะเคลื่อนไหวนั้น มาจากไฟที่มีความร้อน น้ำจะไหลได้ เพราะมีลมที่เคลื่อนไหวไม่เคร่งตีง ส่วนดินจะอุ่นชุ่ม ก็เนื่องด้วยน้ำซึมซาบในดิน
ทำไมต้องตำรับยา?
สมุนไพรทุกชนิดมีรสและฤทธิ์ต่างกัน แต่ละรสจะออกฤทธิ์หรือสรรพคุณ และซึมซาบเข้าอวัยวะแต่ละส่วนที่ต่างกันออกไป ทำให้การใช้สมุนไพรเดี่ยวนั้นอาจมีข้อจำกัดเรื่องผลข้างเคียง หรืออาการแสลงอยู่บ้าง
เช่น สมุนไพรรสขมเย็น ดีต่อการลดธาตุไฟที่กำเริบ (ไข้ต่างๆ) แต่แสลงกับหัวใจ ส่วนรสหวานนั้น มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แต่แสลงกับบาดแผล เพราะหวานทำให้ธาตุดินชุ่ม คนที่มีบาดแผลอยู่ หรือคนที่มีปัญหาน้ำเหลืองเสีย ทำให้แผลหายช้า
สมุนไพรไทย จึงควรใช้เป็นแบบตำรับ (มีสมุนไพรมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป) เพื่อเป็นการผสานฤทธิ์ยา รวมถึงการปรับลดอาการข้างเคียงต่างๆ ที่อาจไปกระทบกับอวัยวะอื่น โดยไม่จำเป็น ตำรับยาจะประกอบไปด้วย
ตัวยาหลัก สมุนไพรที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่ออาการ หรือโรค
ตัวยาช่วย เพื่อช่วยลดอาการแทรก หรืออาการตามทีอาจเกิดจากอาการหลัก หรือโรคหลัก
ตัวยาประกอบ เพื่อป้องกันโรคตาม และช่วยบำรุง หรือคุมฤทธิ์ยาอื่น เช่น การแทรกสมุนไพรประกอบเพื่อลดอาการมวนท้องในยาระบาย
ตัวยาแต่งกลิ่น รส เพื่อง่ายแก่การรับประทาน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมี เพราะปัจจุบัน เราทานยารูปแบบเม็ด หรือแคปซูลแทน
ความแตกต่างระหว่างยาไทย กับยาแผนตะวันตก
ยาไทยได้ผล หรือออกฤทธิ์ช้า จริงหรือไม่?
เนื่องจากยาไทยแผนโบราณตามภูมิปัญญา ในสมัยก่อนนั้นจะเป็นรูปแบบของยาต้ม ทำให้การจะทานได้ถึง dosage นั้นอาจต้องทานในปริมาณมาก หลายครั้ง และรูปแบบของยาน้ำ (ยาต้ม) มักทานยากกว่ายาเม็ดแบบตะวันตก คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกว่า ถ้าจะรักษาด้วยยาไทย ต้องทานนานหลายมื้อกว่ายาแผนปัจจุบันมาก กว่าจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้
อีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือยาไทย เน้นการรักษาแบบองค์รวม คือปรับสมดุลระบบการทำงานของร่างกาย ปิตตะ - วาตะ - เสมหะ (ไฟ ลม น้ำ) เป็นสำคัญ เพราะแพทย์แผนไทยเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์สามารถฟื้นฟูอาการได้เอง และจัดการกับสิ่งแปลกปลอมได้ หากระบบการทำงานนั้นสมดุล ดังนั้น การรักษาโรคเดียวกันด้วยวิธีแบบแผนปัจจุบัน จึงต่างจากแผนไทย แต่สิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการรักษาแผนไทยที่ถูกวิธี คือร่างกายฟื้นตัวได้ ผลข้างเคียงน้อย ค่อนข้างปลอดภัยจากสารตกค้างในร่างกาย เนื่องจากส่วนประกอบนั้นเป็นสมุนไพรจากธรรมชาติ ไม่ใช่เคมีสังเคราะห์
ปัจจุบัน โรคที่มีความเร่งด่วนและฉุกเฉิน จึงถูกพิจารณาให้รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันก่อน แล้วค่อยฟื้นฟูร่างกายด้วยยาแผนไทย หรือการใช้ยาแผนไทยในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต หรือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษานั่นเอง
ทำความรู้จักธาตุในร่างกาย 42 ประการ
ร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วย ธาตุรูป 4 กลุ่ม คือ
1.ธาตุไฟ (4 ประการ) ได้แก่ ปริณามัคคี (ไฟย่อยอาหาร) ปริทัยหัคคี (ไฟที่หัวใจ หมุนเวียนทั่วร่างกาย) ชิรณัคคี (ไฟเสื่อมชราภาพ) สันตัปปัคคี (ไฟอุ่นกาย + ดวงจิต)
2.ธาตุลม (6 ประการ) ได้แก่ อุทธังคมาวาตา (ลมพัดขึ้น) อโธคมาวาตา (ลมพัดลง) กุจฉิสยาวาตา (ลมนอกไส้) โกฎฐาสยาวาตา (ลมในไส้) อัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) ปัสสาสะ (ลมหายใจออก)
3.ธาตุน้ำ (12 ประการ) ได้แก่ ปิตตัง (น้ำดี) เสมหัง (น้ำเสลด) ปุพโพ (น้ำหนอง) โลหิตัง (น้ำเลือด) เสโท (เหงื่อ) เมโท (มันข้น) อัสสุ (น้ำตา) วสา (มันเหลว) เขโฬ (น้ำลาย) สิงฆานิกา (น้ำมูก) ลสิกา (น้ำไขข้อ) มุตตัง (น้ำปัสสาวะ)
4.ธาตุดิน (20 ประการ) ได้แก่ เกศา (เส้นผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (ผิวหนัง) มังสัง (เนื้อ) นหารู (เส้นเอ็น) อัฐิ (กระดูก) อัฐิมิญชัง (เยื่อในกระดูก) วักกัง (ไต) หทยัง (หัวใจ) ยกนัง (ตับ) กิโลมกัง (พังผืด) ปิหกัง (ม้าม) ปับผาสัง (ปอด) อันตัง (ไส้ใหญ่) อันตคุณัง (ไส้น้อย) อุทริยัง (อาหารใหม่) กรีสัง (อาหารเก่า) มัตถเก มัตถลุงคัง (มันสมอง)